การซื้อขายในตลาดฟอเร็กซ์จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับคำสั่งซื้อขายประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักเทรดใช้ในการเข้าและออกจากตลาด รวมถึงการจัดการความเสี่ยง คำสั่งซื้อขายที่เหมาะสมช่วยให้นักเทรดสามารถวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้า ดำเนินการตามแผน และป้องกันอารมณ์ที่อาจส่งผลเสียต่อการตัดสินใจ บทความนี้จะอธิบายคำสั่งซื้อขายพื้นฐานที่ใช้ในตลาดฟอเร็กซ์ พร้อมตัวอย่างประกอบเพื่อให้เข้าใจง่าย
คำสั่งซื้อขายทันที (Market Order)
Market Order หรือ Order Entry คือคำสั่งซื้อหรือขายสกุลเงินทันที ณ ราคาปัจจุบันในตลาด คำสั่งเหล่านี้จะส่งผ่านโบรกเกอร์ และจะถูกดำเนินการทันทีที่ระบบรับคำสั่ง
1. เปิดคำสั่งซื้อ (Buy)
เป็นการเปิดสถานะซื้อเมื่อคาดการณ์ว่าราคาจะมีทิศทางขาขึ้น (เพิ่มขึ้น)
2. เปิดคำสั่งขาย (Sell)
เป็นการเปิดสถานะขายเมื่อคาดการณ์ว่าราคาจะมีทิศทางขาลง (ลดลง)
คำสั่งจัดการความเสี่ยงและกำไร
1. Take Profit (TP)
เป็นคำสั่งที่จะปิดการซื้อขายของคุณโดยอัตโนมัติทันทีที่กำไรถึงระดับที่กำหนดไว้ คำสั่งนี้ช่วยให้คุณสามารถรักษากำไรที่ต้องการไว้ได้แม้ว่าจะไม่ได้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม
2. Stop Loss (SL)
เป็นคำสั่งให้ปิดการซื้อขายโดยอัตโนมัติทันทีที่ขาดทุนถึงระดับที่กำหนดไว้ กลยุทธ์นี้ช่วยให้คุณสามารถจำกัดการขาดทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และป้องกันการสูญเสียเงินในพอร์ตทั้งหมดในกรณีที่ราคาเคลื่อนไหวผิดทิศทางจากที่คาดการณ์ไว้
คำสั่งเหล่านี้มีประโยชน์มากเพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ตลาดได้อย่างแม่นยำ 100% แต่คำสั่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณได้กำไรตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุด
คำสั่งสำหรับการซื้อขายล่วงหน้า (Pending Orders)
คำสั่งเหล่านี้ใช้เมื่อคาดการณ์ทิศทางของราคาในอนาคต โดยระบบจะดำเนินการเมื่อราคาเคลื่อนไหวมาถึงระดับที่คุณกำหนดไว้
1. Buy Stop
คำสั่งนี้จะใช้เมื่อคุณคาดการณ์ว่า เมื่อราคาขึ้นไปถึงระดับที่กำหนดแล้ว มีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อไปอีก ระบบจะทำการเข้าซื้อโดยอัตโนมัติเมื่อราคาขึ้นไปถึงระดับที่คุณกำหนดไว้
ตัวอย่าง: คู่เงิน USD/JPY มีราคาปัจจุบันอยู่ที่ 108.27 คุณคาดการณ์ว่าถ้าราคาขึ้นไปถึง 108.55 แล้ว มีแนวโน้มจะขึ้นไปสูงกว่านี้อีก คุณจึงวางคำสั่ง Buy Stop ที่ระดับ 108.55
2. Buy Limit
คำสั่งนี้จะใช้เมื่อคุณคาดการณ์ว่า เมื่อราคาลงมาถึงระดับที่กำหนดแล้ว มีแนวโน้มที่จะเด้งตัวกลับขึ้นไป ระบบจะทำการเข้าซื้อโดยอัตโนมัติเมื่อราคาลงมาถึงระดับที่คุณกำหนดไว้
ตัวอย่าง: คู่เงิน USD/JPY มีราคาปัจจุบันอยู่ที่ 108.27 คุณคาดการณ์ว่าถ้าราคาลงไปถึง 108.00 แล้ว มีแนวโน้มที่จะตีกลับขึ้นมา คุณจึงวางคำสั่ง Buy Limit ที่ระดับ 108.00
3. Sell Stop
คำสั่งนี้จะใช้เมื่อคุณคาดการณ์ว่า เมื่อราคาลงมาถึงระดับที่กำหนดแล้ว มีแนวโน้มที่จะลงต่อไปอีก ระบบจะทำการเข้าขายโดยอัตโนมัติเมื่อราคาลงมาถึงระดับที่คุณกำหนดไว้
ตัวอย่าง: คู่เงิน USD/JPY มีราคาปัจจุบันอยู่ที่ 108.27 คุณคาดการณ์ว่าถ้าราคาลงไปถึง 108.00 แล้ว มีแนวโน้มที่จะลงต่ำกว่า 108.00 อีก คุณจึงวางคำสั่ง Sell Stop ที่ระดับ 108.00
4. Sell Limit
คำสั่งนี้จะใช้เมื่อคุณคาดการณ์ว่า เมื่อราคาขึ้นไปถึงระดับที่กำหนดแล้ว มีแนวโน้มที่จะตีกลับลงมา ระบบจะทำการเข้าขายโดยอัตโนมัติเมื่อราคาขึ้นไปถึงระดับที่คุณกำหนดไว้
ตัวอย่าง: คู่เงิน USD/JPY มีราคาปัจจุบันอยู่ที่ 108.27 คุณคาดการณ์ว่าถ้าราคาขึ้นไปถึง 108.55 แล้ว มีแนวโน้มที่จะตีกลับลงมา คุณจึงวางคำสั่ง Sell Limit ที่ระดับ 108.55
สรุป
จากบทความนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการใช้คำสั่งซื้อขายในตลาดฟอเร็กซ์ได้ดียิ่งขึ้น หากคุณยังไม่คุ้นเคยกับคำสั่งเหล่านี้ แนะนำให้ทดลองใช้ผ่านบัญชีทดลอง (Demo Account) ก่อน
ตลาดฟอเร็กซ์เป็นตลาดที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การออกคำสั่งซื้อขายที่ถูกต้องและทันเวลาเป็นสิ่งสำคัญ หากมีความล่าช้าในการออกคำสั่ง อาจทำให้คุณพลาดโอกาสทางการลงทุนได้ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่การเลือกโบรกเกอร์ที่มีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญ
0 comments:
Post a Comment